วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ปทานุกรมกาแฟ WCR Coffee Lexicon การพัฒนาที่ (จะ) ไม่หยุดยั้ง

ปทานุกรมกาแฟ WCR Coffee Lexicon การพัฒนาที่ (จะ) ไม่หยุดยั้ง



สัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้พูดคุยเกี่ยวกับ "วงล้อรสชาติกาแฟ" ใหม่ของ SCAA และ ปทานุกรม WCR ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่มา กรรมวิธีสร้างสรรค์ วิธีการใช้งาน ในบทสรุปสุดท้ายนี้ จะพูดถึงข้อดีอันหนึ่งของปทานุกรมรสชาติกาแฟของ WCR นั่นคือการเปิดกว้างให้มีการพัฒนาร่วมกัน และมีความต่อเนื่อง

เป็นที่ทราบดีว่าการริเริ่มสร้าง ปทานุกรมกาแฟ โดย World Coffee Research (WCR) คือการทำงานนานกว่า 100 ชั่วโมงของนักวิทยาศาสตร์ในการประเมินตัวอย่างกว่า 105 ตัวอย่าง จาก 13 ประเทศทั่วโลก ในท้ายที่สุดทำให้ได้รสชาติออกมากถึง 110 รสชาติมาตรฐาน แต่นี่คือการเริ่มต้นเท่านั้น WCR เปิดกว้างให้มีการประเมินกาแฟ และยืนยันว่า รสชาติที่เป็นมาตรฐานนั้น สามารถเพิ่มได้ เช่นเดียวกับ SCAA ซึ่งยินดีจะปรับปรุงวงล้อรสชาติกาแฟ (Flavor Wheel) เมื่อปทานุกรม WCR มีการเพิ่มรสชาติใหม่ๆ เข้าไป (ยังไม่มีการกำหนดว่าการปรับปรุงจะบ่อยแค่ไหน อาจเป็น ทุกปี หรือ ทุก 2 ปี)

ความน่าสนใจอยู่ที่ พวกเราก็สามารถเสนอรสชาติใหม่ๆ หรือเสนอให้มีการแก้ไขรสชาติที่มีอยู่แล้ว ส่งให้กับ WCR ได้ โดยส่งจดหมายระบุชื่อและข้อมูลติดต่อ พร้อมรายละเอียดให้กับตัวแทน WCR ที่อีเมล์ info@worldcoffeeresearch.org โดยสามารถนำเสนอได้ 2 หัวข้อคือ การเพิ่ม/ปรับปรุงรสชาติ และ การเพิ่มตัวอย่างอ้างอิงใหม่

เสนอรสชาติใหม่:
ถ้าคุณเชื่อว่ายังมีรสชาติที่ไม่มีอยู่ในปทานุกรม ก็สามารถนำเสนอได้ โดยระบุข้อมูลดังนี้
- ชื่อรสชาติที่เสนอ
- คำอธิบายรสชาติที่เสนอ
- ตัวอย่างอ้างอิงรสชาติที่เสนอ อย่างน้อย 1 ตัวอย่าง
- คำอธิบายว่ารสชาติที่เสนอใหม่ ต่างจากรสชาติใกล้เคียงที่มีอยู่แล้วอย่างไร

เสนอตัวอย่างอ้างอิงใหม่:
คุณยังสามารถเสนอตัวอย่างอ้างอิงเพิ่มได้ ซึ่งอาจจะเป็นตัวอย่างที่มีความเข้มข้น (Intensity) มากหรือน้อยกว่าตัวอย่างอ้างอิงที่มีอยู่แล้ว หรือ แม้แต่เพิ่มตัวอย่างอ้างอิงใหม่ ที่สามารถหาตามท้องตลาดได้ง่ายกว่า
- ชื่อรสชาติที่มีอยู่แล้ว
- ชื่อ/ตราสินค้าของตัวอย่างอ้างอิงที่เสนอ ซึ่งหาได้จากร้านค้าในอเมริกา
- คำอธิบายว่าตัวอย่างอ้างอิงใหม่จะดีกว่าหรือช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับตัวอย่างที่มีอยู่แล้ว

กระบวนการตรวจสอบ

คณะทำงานที่ได้รับการฝึกประสาทสัมผัสการรับรสจนเชี่ยวชาญ จะประเมินและตรวจสอบรสชาติที่นำเสนอ โดยดูว่าซ้ำกับรสชาติที่มีอยู่แล้วหรือไม๊ เช่นเดียวกับตัวอย่างอ้างอิง อนึ่ง ในการเพิ่ม/ปรับเปลี่ยน รสชาติ หรือ เพิ่ม/แก้ไข ตัวอย่างอ้างอิง คณะทำงานจะเน้นให้เกิดการปรับปรุงรสชาติที่มีอยู่แล้ว หรือทำให้สมบูรณ์ขึ้น

#WCR #SCAA #COFFEEFLAVORWHEEL#SPECIALTYCOFFEE #AROMA #TASTE#SENSORYLEXICON #NEWFLAVOR#UPDATE #NEWREFERENCE

เรียบเรียงโดย: ฝ่ายวิชาการและพัฒนาหลักสูตร ศูนย์การเรียนรู้ ฝึกอบรม กาแฟและเครื่องดื่ม ฮิลล์คอฟฟ์

Cr. https://www.facebook.com/notes/world-coffee-research/the-world-coffee-research-sensory-lexicon-explained-part-5-a-living-document/1038259382882505

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น